.
ชีวประวัติ: ฉัตรมงคล อินสว่าง
กวิญทรา ติ๊บดวงคำ เขียนและตรวจทานโดยศาสตราจารย์ปีเตอร์ ฮาร์ทวิช
2523: ฉัตรมงคลอินสว่าง เกิดในเดือนพฤศจิกายน ณ จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นลูกชายคนที่ 2 ในพี่น้องจำนวน 5 คน ของครอบครัวที่นับถือศาสนาพุทธที่มีลักษณะความเชื่อแบบผสมระหว่างไทยและจืน หลังจากพี่ชายเสียชีวิต มารดาจึงไม่อยากให้ฉัตรมงคลเสียชีวิตเหมือนกับพี่ชาย ตามความเชื่อของชุมชน มารดาจึงนำฉัตรมงคลไปมอบให้เป็นลูกของพระพุทธรูปองค์สำคัญของจังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อให้พระพุทธคุณช่วยปกปักรักษาให้มีสุขภาพแข็งแรงและด้วยเหตุนี้ ฉัตรมงคลจึงได้เติบโตขึ้นพร้อมกับความผูกพันธ์กับพระพุทธรูปนับตั้งแต่วัยเยาว์ ดังคำกล่าวของฉัตรมงคล ที่เคยให้สัมภาษณ์ว่า
“ผมมักเข้าไปนั่งมององค์พระพุทธรูปอยู่เสมอแววตาและรอยยิ้มของพระพุทธรูปที่อยู่เบื้องหน้าทำให้ลืมความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นได้ไม่มีอดีตปัจจุบันและอนาคตมีเพียงความงดงามในทางความรู้สึกเท่านั้นที่ได้สัมผัสรู้และเกิดความหวั่นไหวไปมันคือความเชื่อมโยงระหว่างความงามและความดีได้อย่างกลมกลืนที่สุดในความเข้าใจของผมแต่ผมยังไม่แน่ใจถึงความหมายของความจริงเท่าไหร่นักในเวลานั้น”
หากแต่ฉัตรมงคลก็ยังพบกับเหตุการณ์เฉียดใกล้ความตายอยู่หลายครั้ง จนทำให้เกิดความสนใจและเริ่มตั้งคำถามเชิงปรัชญาที่เรียบง่ายที่สุดถึงความหมายของการมีชีวิตอยู่และความตายตั้งแต่วัยเยาว์
2532 : ในวัยเยาว์ฉัตรมงคลใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติและแม่น้ำลำคลอง การปั้นดินริมคลองจึงเป็นดังของเล่นในวัยเด็ก ที่สามารถรองรับจินตนาการต่างๆ มากมาย เมื่ออายุได้ 9 ปี ครูประจำชั้นเห็นภาพวาดที่ฉัตรมงคลวาดขึ้นจึงผลักดันให้เรียนศิลปะเป็นพิเศษ จนทำให้ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมในระดับชาติบ่อยครั้ง ซึ่งทำให้กลายเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความสามารถพิเศษที่เขามีต่อครอบครัว
2538 : เมื่อสำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมต้น คุณครูผู้เป็นเพื่อนของมารดาได้แนะนำให้ฉัตรมงคลสอบเข้าเรียนที่วิทยาลัยเพาะช่าง แต่เมื่อแม่ทราบว่าวิทยาลัยช่างศิลป์ ได้เพิ่งขยายวิทยาเขตในเมืองสุพรรณบุรี ด้วยความที่มารดาไม่อยากให้อยู่ไกลบ้าน จึงให้เขาเข้าเรียนที่วิทยาลัยช่างศิลป์ สุพรรณบุรี กรมศิลปากร และด้วยเหตุที่ฉัตรมงคลได้รับการฝึกฝนการเขียนภาพอย่างหนักตั้งแต่วัยเยาว์ จึงทำให้ผลงานเรียนได้รับรางวัลประจำปีทุกปีในหลายสาขาวิชา โดยมีวิชาที่เขาชื่นชอบเป็นพิเศษคือวาดเส้น ประติมากรรมและศิลปะไทย
2541 : ฉัตรมงคลเข้าศึกษาต่อในคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ด้วยความสนใจในงานประติมากรรมสมัยใหม่ที่สร้างขึ้นในยุคสมัยของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ที่มักได้แรงบันดาลใจมาจากศิลปะไทยในอดีต ซึ่งมีให้ชมและศึกษามากมาย ประกอบกับความท้าทายในการทำงานกับรูปทรง 3 มิติ ฉัตรมงคลจึงได้เลือกเรียนในวิชาเอกประติมากรรมและวิชาโทวาดเส้น โดยมีศาสตราจารย์เกียรติคุณเข็มรัตน์ กองสุขและศาสตราจารย์เกียรติคุณวิชัย สิทธิรัตน์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา
2546 : ฉัตรมงคลสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีศิลปบัญฑิต เกียรตินิยมอันดับสอง และในปีเดียวกันยังได้รับรางวัลเกียรตินิยมอันดับสอง เหรียญเงิน ประเภทประติมากรรม จากการส่งผลงานชุด “ธรรมชาติวิสัยแห่งมนุษย์” เข้าประกวดครั้งแรกในเวทีศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 49 โดยผลงานที่ได้รับรางวัล ปัจจุบันติดตั้งถาวร ณ สวนประติมากรรม ด้านหน้ามหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตเพชรบุรี ที่ผลงานชิ้นที่ได้ร่วมแสดงในปีเดียวกันปัจจุบันติดตั้งจัดแสดงถาวร ณ บ้านพิพิธภัณฑ์ เสริมคุณ คุณาวงศ์
2547 : หลังจากสำเร็จการศึกษาฉัตรมงคลได้ทำงานเป็นครูประจำ ณ โรงเรียนไทยวิจิตรศิลป์ แต่เนื่องด้วยการสอนเต็มเวลาและปัญหาด้านสุขภาพจึงทำให้ไม่มีเวลาในการทำงานศิลปะมากนักจึงทำให้ฉัตรมงคลตัดสินใจลาออกในปีต่อมา หลังจากนั้นจึงได้ทำงานเป็นผู้ช่วยประติมากรอาจารย์นิกร คชพงศ์ (2496 – 2561) ประติมากรชำนาญการของกรมศิลปากร ผู้ร่วมปั้นพระพุทธรูปปางลีลาประจำพุทธมณฑลที่ออกแบบโดยศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ผู้ซึ่งเป็นอาจารย์ที่เคารพรักของเขา พร้อมกับทำงานประติมากรรมร่วมสมัยในแนว Figuretive อย่างต่อเนื่อง โดยส่วนหนึ่งของผลงานที่สร้างขึ้นในช่วงนี้ คือผลงานที่ได้รับรางวัลของธนาคารกรุงไทย ในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 50 โดยผลงานที่ได้รับรางวัล ได้ถูกนำไปติดตั้งถาวร ณ สวนประติมากรรมกรุงไทย เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา
2548 : ระหว่างที่ทำงานด้านการปั้นรูปอนุสาวรีย์กับอาจารย์นิกร ฉัตรมงคลได้เข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโทด้านประติมากรรม ณ คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากรไปพร้อมกันกับการทำงาน โดยใช้รายได้ที่ได้จากการทำงานอนุสาวรีย์ไปกับการทำงานศิลปะและการเรียนจนจบการศึกษา
2549 : ฉัตรมงคลได้รับมอบหมายจากรองศาสตราจารย์ถนอมจิตร์ ชุ่มวงศ์ หัวหน้าภาควิชาประติมากรรม คณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากรให้รับผิดชอบในการสร้างและบูรณะ ผลงานประติมากรรมที่ได้รับรางวัลจากการประกวดศิลปกรรมแห่งชาติตั้งแต่อดีตถึงปี พ.ศ. 2549 ซึ่งนับเป็นโอกาสที่ทำให้เขาได้ศึกษาเรียนรู้ถึงวิธีคิด รูปแบบและวิธีการสร้างสรรค์ของศิลปินมากมาย หากแต่ในปีเดียวกันนี้เอง ที่เขาได้ทราบข่าวร้ายจากอาการเจ็บป่วยของแม่ที่เป็นโรคมะเร็งซึ่งได้สร้างความสะเทือนใจต่อฉัตรมงคลเป็นอย่างมาก และนับเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญต่อแนวความคิดในการทำงานศิลปะและทัศนะต่อการมีอยู่ของชีวิตและความตาย
2550 : ฉัตรมงคลได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการ ด้านศิลปวัฒนธรรมของสถานทูตอิตาลี ประจำประเทศไทย ให้ได้รับทุนการศึกษาด้านศิลปะ ณ วิทยาลัยศิลปะชั้นสูงแห่งเมืองฟลอเรนซ์ (Accademia di Belle Arti di Firenze) สาธารณรัฐอิตาลี เป็นเวลา 1 ปีการศึกษา แต่ด้วยความกังวัลต่อการดูแลสุขภาพของแม่จึงทำใหเขาต้องการขอสละสิทธิ์ในช่วงแรกแต่ด้วยความเจตนาของแม่ จึงทำให้เขาเดินทางไปเรียนด้วยสภาพจิตใจที่ไม่พร้อมนัก โดยมีศาสตราจารย์ Prof. Vittorio Fumasi และศาสตราจารย์Prof.Tozzi Tommaso เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา โดยผลงานในช่วงที่ศึกษาที่อิตาลีจึงเป็นงานที่รับใช้ความคิดและความรู้สึกของเขาที่มีต่อแม่ทั้งสิ้น มีผลงานในชุด “แม่และฉัน ที่นี่” ได้ถูกสร้างขึ้นผ่านการถอดแบบใบหน้าของเขาออกมา และปั้นรูปใบหน้าแม่ทับลงไป ผลงานมีลักษณะคล้ายหน้ากากที่เกิดจากการซ้อนทับกันของรูปนูน (positive) ภาพใบหน้าของแม่และที่ว่างรูปใบหน้าของเขาด้านหลัง (negative) ซึ่งเขาได้นำไปสวมใส่บนใบหน้าของตนในขณะที่เดินทางไปยังสถานที่สำคัญต่างๆ ในอิตาลีพร้อมกับทำการบันทึกภาพไว้และจัดแสดงในนิทรรศการคู่ที่ชื่อ “Opera Muta” (การทำงานแห่งความเงียบ) ณ DEA Gellery เมืองฟลอเรนซ์
2552 : หลังจากกลับจากการศึกษาศิลปะที่อิตาลี ฉัตรมงคลพบว่าร่างกายของตนอ่อนแอลงอย่างผิดปกติ หลังจากตรวจร่างกาย แพทย์ได้วินิจฉัยว่าตับอักเสบอย่างรุนแรงและต้องรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ในระหว่างนั้นเขาก็ยังคงทำงานศิลปะอย่างต่อเนื่องในชุด ธรรมชาติวิสัยแห่งมนุษย์ และผลงานประติมากรรมโลหะที่มีขนาดความสูงราว 6 เมตร ในชุดเดียวกันได้รับการสนับสนุนซื้อเข้าเก็บสะสมในคอลเล็คชั่นของศูนย์ประติมากรรมกรุงเทพ (Bangkok Sculpture Center) เป็นชิ้นที่ 2
2554 : ฉัตรมงคลได้รับบรรจุเป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาประติมากรรม ภาควิชาวิจิตรศิลป์ วิทยาลัยเพาะช่าง จากการแนะนำของศาสตราจารย์เกียรติคุณเข็มรัตน์ กองสุข และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าสาขาวิชาใน 3 ปีถัดมา 2 สมัย นับเป็นช่วงเวลาที่เขาได้ถ่ายทอดความรู้ ความสามารถในทางศิลปะแก่ลูกศิษย์มากมาย และเนื่องด้วยการทำงานบริหารจึงทำให้ผลงานของเขาทั้งงานจิตรกรรมและประติมากรรมในช่วงนี้จึงมีขนาดเล็กเป็นส่วนใหญ่
2558 : ด้วยการทำงานราชการให้กับวิทยาลัยเพาะช่างจึงทำให้การทำงานส่วนใหญ่ในช่วงปี 2558-60 มักเป็นงานรับใช้สังคมและส่วนงานราชการที่เกี่ยวข้องกับงานด้านศิลปวัฒนธรรมเป็นส่วนใหญ่ เช่น
- คณะกรรมการตัดสินในโครงการยุวศิลปินไทย “Young Thai Artist Award” มูลนิธิเอสซีจี
- การสร้างประติมากรรมต้นแบบพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ติดตั้ง ณ ที่ทำการกระทรวงยุติธรรม
- ผู้รับผิดชอบโครงการ“พระมหาชนกเพื่อผู้พิการทางสายตา” เพื่อสร้างประติมากรรมนูนต่ำให้ผู้พิการทางสายตาได้สัมผัสเรื่องราวของ “พระมหาชนก” พระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
- ได้รับมอบหมายจากหัวหน้ากลุ่มงานประติมากรรม สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ให้เป็นประติมากรหลักในการปั้นรูปต้นแบบประติมากรรม พระพิเนก-พินาย เพื่อประกอบพระเมรุมาศส่งเสร็จพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
- นิทรรศการเดี่ยวพระบรมรูปของรัชกาลที่ 9 “ดวงใจของแผ่นดิน” หอศิลป์เพาะช่าง
- ประติมากรผู้ช่วยอนุสาวรีย์จ่าแซม นาวาตรีสมาน กุนัน โดยการควบคุมของศาสตราจารย์เมธีเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์
2560 : ด้วยความต้องการให้เวลากับการทำงานศิลปะตามแนวทางของตนเองให้มากขึ้น ฉัตรมงคล จึงได้ขอลาพักราชการจากวิทยาลัยเพาะช่างไปศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก ณ คณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร รุ่นที่ 5 ร่วมกับ 1. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี, 2. นายปรัชญ์ พิมานแมน, 3. นายพิสณฑ์ สุวรรณภักดี, 4. นางสาวฤทัยรัตน์ คำศรีจันทร์, 5. นางวัชราพร ศรีสุข ซึ่งในช่วงเวลานี้เอง ฉัตรมงคลได้อุทิศตนให้กับทำงานศิลปะอย่างจริงจัง และนับเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่ทำให้ผลงานของเขาไปสู่การสร้างรูปแห่งสภาวธรรม (รูป – ธรรม) จากการพิจารณาการดำรงอยู่ของร่างกายผ่านการสังเกตคุณสมบัติของลมหายใจและการแสดงออกของพระพุทธรูป
2561 : ผลงานประติมากรรมของฉัตรมงคลในชุด “ธรรมวิสัยแห่งรูป” ได้รับรางวัลเกียรตินิยม เหรียญทองแดง ในเวทีการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 64 ณ หอศิลป์แห่งชาติ
2562 : ผลงานจิตรกรรมและประติมากรรมในชุด “ธรรมวิสัยแห่งรูป” ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมแสดงพร้อมกันในสาขาจิตรกรรมและประติมากรรมในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 65 จัดแสดง ณ พิพิธพัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป์เจ้าฟ้า
2563 : ผลงานจิตรกรรมและประติมากรรมชุด “The Existence of Drarma in Figures” ได้รับการจัดแสดงกลุ่มร่วมกับเพื่อนของเขา ณ พิพิธพัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป์เจ้าฟ้า ในนิทรรศการที่ชื่อ “Preciouse Space” แต่การจัดแสดงต้องปิดลงหลังจากจัดแสดงไปราว 2 สัปดาห์เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด 19 เริ่มรุนแรงในกรุงเทพฯ
2564 : มีแผนงานจัดแสดงนิทรรศการเดี่ยว Solo Exhibition ณ AUA Language Center – สมาคมนักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกา ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ Serindia Gallery โดยการประสานงานของคุณเชน สุวิกะปกรณ์กุล และการแสดงงานเดี่ยว ณ West Kunst Nied Gallery, Frankfurt, Germany. จากการประสานของศิลปิน Prof. Dr. Peter Hartwich และคิวเรเตอร์ Spomenka Molly Aleckovic แต่เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด 19 ยังคงแพร่ระบาดทั่วโลกจึงทำให้แสดงผลงานต้องถูกเลื่อนออกไป
2565 : จัดแสดงผลงานร่วมกับอิ่มหทัย สุวัฒนศิลป์ ในนิทรรศการที่ชื่อ “Breathe” โดยภัณฑารักษ์ นิ่ม นิยมศิลป์ ณ Richard Koh Fine Art ประเทศสิงคโปร์
2566 : จัดแสดงผลงานเดี่ยวในนิทรรศการที่ชื่อ “Transcendence: Body as Landscape”โดยภัณฑารักษ์ นิ่ม นิยมศิลป์ ณ Richard Koh Fine Art กรุงเทพฯ ประเทศไทย
ฉัตรมงคล อินสว่าง