การนำเสนอร่างกายของมนุษย์ที่แสดงออกแนวคิดทางปรัชญา

with No Comments

ผลงานของ-ฉัตรมงคล-อินสว่าง-บทวิเคราะห์ผลงานศิลปะของฉัตรมงคล-อินสว่าง-ศิลปิน-ประติมากร1.2

การนำเสนอร่างกายของมนุษย์ที่แสดงออกแนวคิดทางปรัชญา

ผลงานการกลายสภาพของมนุษย์ในกลุ่มปรัชญานี้ ศิลปินมักจะมีความคิดที่จะให้ร่างกายเป็นพื้นที่ที่นำเสนอคำตอบ บางอย่างที่สำคัญต่อการมีชีวิตอยู่ โดยเฉพาะการปฏิเสธร่างกาย เพื่อนำเสนอสิ่งที่เรียกว่า “ตัวตน” (อันเป็นปริศนา) และค้นหาความหมายของชีวิต ในขณะที่ทฤษฎีจิตวิเคราะห์เอง ได้กล่าวถึงในเรื่องนี้ว่า แม้แต่จิตสำนึกของปัจเจกบุคคลเองก็ถูกควบคุมโดยกฎเกณฑ์บางอย่างของจิตไร้สำนึก ที่ตัวเราเองก็ไม่สามารถรู้เท่าทันด้วยซ้ำ อย่างน้อยก็แสดงให้เห็นว่า “ตัวตน” ของปัจเจกแท้จริงคืออะไร และอยู่ที่ไหนจึงเป็นสิ่งที่ต้องศึกษาในบทของการวิเคราะห์ต่อไป แต่ในทางปรัชญา “ตัวตน” มักจะหมายถึงรูปลักษณ์นามธรรมบางอย่างที่แฝงอยู่ในร่างกายและการสูญเสียตัวตนก็เป็นเรื่องที่ได้รับการผลิตซ้ำอยู่เสมอ

ฉัตรมงคล อินสว่าง เป็นศิลปินอีกผู้หนึ่งที่นำเสนอรูปลักษณ์ของร่างกายในทรรศนะทางปรัชญา ผลงานที่นำมาเสนอนี้มีชื่อว่า “ธรรมชาติวิสัย หมายเลข 2” ศิลปินนำเสนอแนวคิดเรื่องของวัฎจักรของธรรมชาติและชีวิต โดยอุปมาเรื่องที่เกิดขึ้นและการดับสูญของร่างกายมนุษย์

เศษโลหะชิ้นเล็กๆ ประกอบกันขึ้นเป็นรูปทรงของมนุษย์ และร่างกายของมนุษย์นี้ก็ค่อยๆ เคลื่อนตัวขึ้นสู่ที่สูง และกลายสภาพคล้ายกับของเหลว ไหลตกลงมาเป็นมนุษย์ที่นอนแน่นิ่ง จากกระบวนการดังที่กล่าวมา เห็นได้ว่ามีขั้นตอนหนึ่งที่รูปมนุษย์มีการเปลี่ยนเป็นสภาวะนามธรรม ศิลปินประสาน “การมีอยู่” และ “หายไป” ไว้ด้วยกันอย่างแนบสนิท เป็นการนำร่างกายมนุษย์อันเป็นวัตถุดิบของธรรมชาติมาอธิบายความคิดทางปรัชญาที่เป็นนามธรรม โดยเฉพาะเรื่องราวที่ทุกคนต่างก็ทราบอยู่แล้วว่าทุกอย่างมีเกิดก็ต้องมีดับ และลักษณะการเปลี่ยนแปลงสถานะของสสารตามธรรมชาติก็เป็นเรื่องที่ทุกคนในสังคมต่างก็รู้กันดี เช่น จากน้ำแข็งสามารถละลายเป็นของเหลว จากของเหลวสามารถเปลี่ยนสถานะกลายเป็นไอ และสามารถควบแน่นกลับมาเป็นของเหลวได้ ลัญลักษณ์ที่เกิดจากตรรกะง่ายๆ เหล่านี้แสดงให้เห็นโลกทัศน์ของศิลปิน ซึ่งได้นำเสนอเรื่องราวของชีวิตผ่านร่างกายของมนุษย์ได้อย่างแนบเนียน

ชล เจนประภาพันธ์. (2549). การกลายสภาพของมนุษย์ในศิลปะร่วมสมัยไทย (พ.ศ. 2539 – 2549). ศิลปนิพนธ์ปริญญาศิลปบัณฑิต. มหาวิทยาลัยศิลปากร.