นิทรรศการภาพวาดฝีพระหัตถ์ ชุด “หลากลาย หลายชีวิต 2 ”(Various Patterns; Diversity of Life 2)

with No Comments

นิทรรศการภาพวาดฝีพระหัตถ์ ชุด “หลากลาย หลายชีวิต 2 ”(Various Patterns; Diversity of Life 2) : ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จไปทรงนำเสนอผลงานวิทยานิพนธ์ และทรงเปิดการแสดงนิทรรศการภาพวาดฝีพระหัตถ์ ชุด “หลากลาย หลายชีวิต 2 ”(Various Patterns; Diversity of Life 2) ซึ่งเป็นเงื่อนไขของการทำวิทยานิพนธ์ด้วยการจัดนิทรรศการเผยแพร่แก่สาธารณชน ครั้งที่ 2   โดยเป็นการสอบป้องกันดุษฎีนิพนธ์ครั้งสุดท้าย เพื่อจบการศึกษา ในหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาทัศนศิลป์ คณะจิตรกรรมประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยในการนี้นักศึกษาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตร่วมรุ่นที่ 5 นายฉัตรมงคล อินสว่าง ได้ขอพระราชทานพระราชานุญาตถวาย ประติมากรรมโลหะสำริด พระบรมรูปเหมือนรัชกาลที่ 9 ณ หอศิลป์พิมานทิพย์ ต.โป่งตาลอง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา

______________________________________________

______________________________________________

การนี้ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงบรรยายถึงเนื้อหาสาระและการปฏิบัติงานของวิทยานิพนธ์ในชุด “หลากลาย หลายชีวิต 2” โดยการสร้างสรรค์ผลงานชุดนี้  จะใช้สัญลักษณ์และความหมายการแสดงออกจากสิ่งที่ทรงมีความประทับใจ นั่นคือ “เสือ” อันหมายถึง ความสัมพันธ์และความผูกพันอย่างลึกซึ้ง ทั้งความใกล้ชิด ความผูกพันทางสายเลือด และความเป็นผู้นำของอาณาจักร ซึ่งหมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชบิดา 

นอกจากนั้นลวดลายของเสือยังปรากฏเป็นตัวอักษรสัญลักษณ์ DNA หรือชื่อย่อทางสารพันธุกรรมเทคโนโลยีชีวภาพทางด้านวิทยาศาสตร์อันเป็นประสบการณ์ในด้านวิทยาศาสตร์ของพระองค์ มาผสมผสานกับจินตนาการจากจิตใต้สำนึกตามบริบทแวดล้อม เพื่อถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกผ่านรูปทรงและความหมายของพื้นที่ต่าง ๆ ที่ทรงคุ้นเคย ผ่านลายเส้นที่ทรงวาดลงบนผืนกระดาษที่แสดงถึงความแม่นยำ เด็ดเดี่ยว เคลื่อนไหว มีชีวิต มีลมหายใจ มีจิตวิญาณ เพื่อส่งต่อความฝัน ความรู้สึกที่เปี่ยมไปด้วยความรักต่อตนเอง ครอบครัว ประชาชนชาวไทยไปจนกระทั่งผู้คนในโลกนี้ได้อย่างเต็มที่

โดยรูปแบบของงานศิลปะเป็นกึ่งแฟนตาซีผสมผสานกับคุณลักษณะของงานศิลปะที่ซื่อตรงบริสุทธิ์ใจโดยไม่ยึดติดหรือใช้หลักทฤษฎีทางวิชาการของศิลปะใด ๆ แต่ขยายขอบเขตของการสร้างสรรค์ออกไปตามสัญชาตญาณและความรู้สึกภายในใจจิตใจใต้สำนึก ซึ่งเป็นลักษณะการเขียนแบบศิลปะนาอีฟ หรือ นาอีฟอาร์ต (Naive Art) โดยทรงทำการศึกษาผลงานของศิลปินที่มีชื่อเสียงทางด้านนี้คือ อองรี รุสโซ จิตรกรชาวฝรั่งเศส และยะโยะอิ คุสะมะ จิตรกรหญิงชาวญี่ปุ่น มาเป็นต้นแบบในการสร้างสรรค์ผลงาน

______________________________________________

ขอขอบคุณภาพและเนื้อหาจาก มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์, สำนักข่าวแนวหน้า

อ้างอิง http://www.silpakornalumni.su.ac.th/index.php/148-9

https://www.naewna.com/lady/355348